เรามักจะพบว่าผู้สูงอายุมักมีอาการเท้าบวมบ่อยๆ ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายหลายอย่าง วันนี้เรามาทำความรู้เข้าใจกับอาการเท้าบวมที่เกิดขึ้น พร้อมวิธีป้องกัน เอาไว้ค่อยดูแลผู้สูงอายุที่เรารักกันเถอะ
อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ คืออะไร
อาการเท้าบวม คือ อาการที่เท้ามีอาการบวมโตมากกว่าปกติ อาจมีการกดบุ๋มร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาจเป็นในเท้าข้างเดียว หรือสองข้าง
อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร
อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุมักเกิดจากการที่มีการสร้างและคั่งของของเหลวในบริเวณดังกล่าวมากกว่าปกติ โดยมักเกิดจาก
1.การยืน หรือนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน
2.การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป
3.การดื่มน้ำมากเกินไป
4.น้ำหนักเกิน
5.การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ฮอร์โมนทดแทน ยาต้านซึมเศร้า หรือยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
6.การที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนกลับเข้าหัวใจได้อย่างเป็นปกติ
7.การบาดเจ็บ เช่น ข้ออักเสบ ข้อเท้าแพลง
8.การถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
9.โรคเกี่ยวกับหัวใจ ไต ตับ
10.ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
11.การติดเชื้อ
12.การได้รับการผ่าตัดบริเวณขา เท้า หรือสะโพก โดยเฉพาะการผ่าตัดมะเร็งซึ่งมีการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาร่วมด้วย
13.มีโปรตีน เช่น อัลบูมิน (albumin) ในร่างกายต่ำ
การป้องกันเท้าบวมในผู้สูงอายุ
1.ลดน้ำหนัก หากมีน้ำหนักเกิน
2.ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ลดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง ก็จะช่วยลดการสะสมของของเหลวภายในเนื้อเยื่อของร่างกาย จึงช่วยลดและบรรเทาอาการบวมของเท้าได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง
3.เปลี่ยนอิริยาบทบ้าง เมื่อต้องอยู่ท่าเดิมนานๆ เช่น มีการนั่ง การทางไกล
4.เปลี่ยนอิริยาบทเมื่อนอน โดยการยกส่วนของเท้าให้สูงขึ้น หรือหนุนหมอนบริเวณตั้งแต่หน้าแข้งลงไปเป็นเวลาครั้งละ 5 – 10 นาที ซึ่งจะช่วยลดและบรรเทาอาการฝ่าเท้าบวมได้เป็นอย่างดี
5.หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นบริเวณต้นขา เนื่องจะทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ไม่ดี
6.ลดการสวมใส่รองเท้า ถุงเท้าที่รัดแน่น จะทำให้เกิดการคั่งค้างของของเหลวภายในร่างกายแล้วทำให้เกิดอาการบวม และควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าผ้าใบที่มีการรัดเท้าอยู่ตลอดเวลา
7.การออกกำลังเฉพาะที่ โดยเน้นที่ขา ข้อเท้า สะโพก
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าอาการเท้าบวมในผู้สูงอายุเกิดได้จากปัจจัยได้หลายอย่าง ดังนั้น ผู้สูงวัยและผู้ดูแลผู้สูงวัย ควรหมั่นสังเกตเท้า หากพบอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป